สร้างแบรนด์ VS ซื้อมาขายไป

สร้างแบรนด์เอง vs ซื้อมาขายไป แบบไหนดีกว่ากัน? คำถามยอดฮิตของคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร และเลือกทำธุรกิจแบบไหนดี

.

แน่นอนว่าการเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกับมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจของตัวเองมา ซึ่งคำถามที่มักเจอบ่อยๆ คือ จะลงทุนสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองเลย หรือจะขายสินค้าแบบซื้อมาขายไป แบบไหนดีกว่า และคุ้มค่ามีกำไรมากกว่ากัน ถ้าใครที่มีความสนใจเริ่มต้นธุรกิจ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ ลองดูก่อนดีกว่าว่า ข้อดี ข้อเสียของทั้งสองแบบนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แล้วค่อยตัดสินใจว่าแบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจและตัวคุณมากที่สุด

.

✅ ข้อดีของการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

1. การสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง เปรียบเสมือนการวางแผนระยะยาว เพื่อความมั่นคงของอาชีพ รายได้ และชีวิตในอนาคต ยิ่งถ้าแบรนด์ที่สร้างประสบความสำเร็จติดตลาด ก็สามารถนำแบรนด์ไปต่อยอดได้ง่ายขึ้น ทั้งขยายตลาดหรือผลิตสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม

2. สินค้ามีความน่าเชื่อถือและมีความน่าใช้งานมากขึ้น เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าการได้ซื้อของโดยตรงจากเจ้าของแบรนด์ ช่วยลดความเสี่ยงจากการลองผิดลองถูก สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อสงสัยที่มีกับสินค้าได้โดยตรงจากเจ้าของ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

3. รู้จักและเข้าใจสินค้าเป็นอย่างดี เนื่องจากการทำแบรนด์เอง จะสามารถกำหนดรูปแบบ คุณภาพสินค้า วัสดุอุปกรณ์ ต้นทุน รวมถึงกระบวนการผลิตที่ตัวเองต้องการได้

4. มีอิสระในการบริหารจัดการ รวมถึงการตัดสินใจและกำหนดทิศทางของธุรกิจตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีความยืดหยุ่นสูง ในการปรับเปลี่ยนพัฒนาสินค้าหรือธุรกิจ เช่น หากสังเกตเห็นว่ารุ่นไหนเป็นที่นิยม ขายดี ก็สามารถสั่งผลิตได้เรื่อยๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะหมดสต็อก หรือขาดตลาด

5. หากแบรนด์ของคุณเติบโตประสบความสำเร็จ ข้อดีอีกหนึ่งข้อ คือ ความภาคภูมิใจ และความสุขจากการที่คุณทำสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จ

.

❌ ข้อเสียของการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

1. ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การโปรโมท ไปจนถึงการขาย ยิ่งใครที่มีหน้าร้าน ก็จะมีต้นทุนค่าสถานที่ด้วย

2.มีโอกาสขาดทุนสูง เป็นผลมาจากการมีต้นทุนสูงแล้วกำไรที่ได้ ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ รวมถึงการมีฐานลูกค้าไม่มากพอก็อาจส่งผลให้สินค้าที่ผลิตค้างสต็อก ขายไม่ได้ และขาดทุนในที่สุด

3. ใช้กำลังคนในการทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งจากผลิต และการขายสินค้า หรือสำหรับใครที่ทำแบรนด์ตัวเอง แต่เป็นการจ้างผลิต ก็จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างคนผลิตเพิ่มเติมด้วย

4. มีเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเป็นพิเศษ

5. การสร้างแบรนด์เอง เป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องใช้เวลาและอาจเกิดความล่าช้าไม่สามารถสร้างได้ทันที เพราะต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าที่แบรนด์จะสำเร็จ ตั้งแต่การคิดสินค้าที่จะขาย คิดชื่อแบรนด์ เลือกรูปแบบสินค้า วัสดุอุปกรณ์ ขั้นตอนการผลิต ประเมินคุณภาพ ไปจนถึงการขาย และการโปรโมทแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

.

✅ ข้อดีของการซื้อมาขายไป

1. สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่าย และรวดเร็ว หากรู้จักแหล่งผลิตหรือแหล่งขายสินค้า เพื่อรับมาขายต่อให้กับลูกค้า เปรียบเสมือนเป็นคนกลางระหว่างผู้ผลิตและลูกค้า โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก หรือเสียเวลาเพื่อสร้างแบรนด์ เพราะสินค้าส่วนใหญ่คือสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

2. มีแหล่งไปรับซื้อสินค้ามากมาย รวมถึงมีสินค้าให้เลือกรับซื้อมาขายหลากหลายประเภท ตามเทรนด์หรือความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งผู้ขายสามารถเลือกได้ว่าจะนำของแบรนด์อะไรมาขายบ้าง ยิ่งเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ ลูกค้านิยม มีการรีวิวจากลูกค้าผู้ใช้จริง ก็จะยิ่งช่วยให้ร้านมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

3. สามารถเปิดร้านหรือลงทุนได้ในงบประมาณที่มี ไม่จำเป็นต้องหาทุนเพิ่ม เพราะการซื้อมาขายไป สามารถสั่งออเดอร์ได้ตามที่ต้องการ

4. ผู้ขายมีอิสระไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับใดๆ เพราะว่าการซื้อมาขายไป คือการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพียงแต่ไม่ต้องผลิตด้วยตัวเองก็เท่านั้น

5. ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ก็สามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ รวมถึงสามารถทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักก็ได้ เนื่องจากการซื้อมาขายไป ไม่จำเป็นต้องสต็อกของในปริมาณที่มาก และสามารถขายได้ทุกเวลา ทุกที่ ตามที่ต้องการ

.

❌ ข้อเสียของการซื้อมาขายไป

1. แม้การซื้อมาขายไป จะสามารถตั้งราคาขายเองได้ แต่ก็ไม่ควรสูงเกินไปจากเจ้าอื่นที่รับสินค้ามาจากแหล่งเดียวกัน เพราะสินค้าส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทั้งจากลูกค้าและคนขาย หากตั้งราคาสูงเกินไปก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะไปซื้อเจ้าอื่นที่ราคาถูกกว่า แต่ได้สินค้าที่ไม่ต่างกัน

2. เพราะเป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก ทำให้มีผู้ที่สนใจทำธุรกิจเดียวกันจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมีคู่แข่งเยอะก็ยิ่งลดโอกาสในการขายของ ทำให้ขายของได้ยากขึ้น

3. บางสินค้าเป็นสินค้าประเภทตามกระแสนิยม หากเราบริหารจัดการสต็อกไม่ดี สั่งซื้อทีละมากๆ เพื่อหวังกำไร เมื่อไหร่ที่กระแสลดลง ก็จะส่งผลให้ขายสินค้าไม่ได้ ค้างสต็อก นำไปสู่การขาดทุน การทำธุรกิจแบบนี้จึงต้องอาศัยหมั่นศึกษา ตามเทรนด์กระแสนิยมอยู่ตลอดเวลา

4. การซื้อมาขายไป เปรียบเสมือนแผนระยะสั้นของการทำธุรกิจเพื่อดำรงชีพมากกว่าเพื่อความมั่นคง เพราะเมื่อไหร่ที่สินค้ายังขายได้ ยังเป็นที่นิยม ผู้ขายก็จะยังมีรายได้อยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ขายไม่ได้แล้ว ตกเทรนด์ หรือแม้แต่สินค้าขาดตลาด รวมถึงเจ้าของเลิกผลิตไปแล้ว ก็จะส่งผลให้ผู้ขายไม่สามารถนำสินค้ามาขายต่อได้ ซึ่งทำให้รายได้ที่ควรจะได้นั้นลดลง

5. ได้กำไรต่อชิ้นน้อย เพราะธุรกิจซื้อมาขายไป ต่อให้รับสินค้ามาขายในราคาส่ง แต่ราคานั้นนอกจากต้นทุนการผลิตแล้ว ผู้ผลิตก็ได้บวกกำไรมาด้วย ทำให้ผู้ที่จะรับมาขายนั้น ไม่สามารถบวกกำไรเพิ่มได้มาก ซึ่งหากต้องการกำไรที่มาก ก็ต้องแลกด้วยการลงแรงขายสินค้าให้ได้จำนวนมากๆ หลายๆ ชิ้น

.

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดคือ ข้อดี-ข้อเสีย ของทั้งการสร้างแบรนด์เองและการซื้อมาขายไป ล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเป้าหมายของเรานั้นคืออะไร ต้องการมีอาชีพ มีรายได้ หรือมีความมั่นคง ซึ่งเมื่อรู้ข้อดี ข้อเสียของทั้งสองรูปแบบแล้ว ก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้หลายคนตัดสินใจได้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับตนเอง

.

ซึ่งไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร ก่อนเริ่มธุรกิจแต่ละครั้ง คุณต้องรู้จักตัวเอง ความชอบ จุดยืน รวมถึงเป้าหมายของตัวเองก่อน และสิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาหาความรู้อย่างรอบคอบ เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่ต้องการทำ

.

ที่มา : ThaiSMEs Center, Taokaemai